Last updated: 16 ต.ค. 2567 | 10 จำนวนผู้เข้าชม |
6 การจัดวางองค์ประกอบ เพื่อผลงานที่โดดเด่น
1. การเน้นจุดแห่งความสนใจ (Emphasis)
เป็นหนึ่งในหลักการจัดวางองค์ประกอบพื้นฐานที่มีความสำคัญในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกราฟิก หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยการกำหนดบริเวณใดของงานออกแบบให้มีลักษณะพิเศษกว่าบริเวณอื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เช่น การออกแบบโลโก้ อาจจะมีการเน้นย้ำชื่อแบรนด์โดยการใช้สีที่โดดเด่น และขนาดตัวอักษรที่ใหญ่ ในขณะที่ข้อความเสริมอื่น ๆ อาจจะมีขนาดเล็กลง และการออกแบบกล่อง ควรเลือกใช้สีที่มีความโดดเด่นหรือต่างจากสีพื้นหลังจะช่วยเน้นความสนใจไปยังจุดนั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากกล่องเป็นสีเทา ข้อความที่เกี่ยวกับส่วนประกอบควรจะเป็นสีดำ
2. ความสมดุล (Balance)
เป็นการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ในการออกแบบให้มีความสมดุลกัน ทั้งในเชิงขนาด สี และรูปทรง ความสมดุลนี้จะทำให้งานออกแบบมีความสวยงาม อ่านง่าย และสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การออกแบบนามบัตร ตัวอักษรที่อยู่ทางด้านซ้ายของนามบัตรต้องสมดุลกับโลโก้หรือข้อมูลการติดต่อที่อยู่ทางด้านขวา
โดยความสมดุลสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
ความสมดุลแบบสมมาตร (Symmetrical Balance) เป็นการจัดวางองค์ประกอบในการออกแบบให้มีความสมมาตรกัน โดยองค์ประกอบที่อยู่ฝั่งซ้าย และฝั่งขวาของแกนกลางจะต้องสมดุลกัน ในรูปแบบนี้ความสมดุลเกิดขึ้นเมื่อวัตถุหรือองค์ประกอบของฝั่งหนึ่งมีน้ำหนักที่เท่ากันกับอีกฝั่งหนึ่ง
ความสมดุลแบบอสมมาตร (Asymmetrical Balance) เป็นการจัดวางองค์ประกอบที่ไม่เหมือนกันทั้งสองฝั่งของแกนกลาง แต่ยังคงรักษาความสมดุลไว้ โดยมองจากมุมมองของความน่าสนใจ น้ำหนัก หรือการเน้นองค์ประกอบ
3. ความกลมกลืน (Harmony)
การสร้างความเชื่อมโยง และความสอดคล้องระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ภายในงานออกแบบ ทำให้ภาพรวมทั้งหมดมีความเข้ากันอย่างกลมกลืน ช่วยให้ผลงานการออกแบบดูมีความสมบูรณ์ และมีความประสานกัน ลดความซับซ้อนหรือความไม่สอดคล้องที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาเขียวโดยใช้พื้นหลังสีเขียวให้มีความกลมกลืนกับผลิตภัณฑ์ชาเขียว การเลือกรูปภาพที่สอดคล้องกับสินค้า และการเลือกแบบตัวอักษรที่มีลักษณะที่เข้ากันได้กับรูปแบบอื่น ๆ บนบรรจุภัณฑ์ โดยการใช้สีที่มีความสอดคล้องกันได้ดี
4. ความแตกต่าง (Contrast)
ความแตกต่างหรือความขัดแย้งเป็นการจัดวางส่วนประกอบของการออกแบบที่ไม่ซ้ำซาก เช่น มีรูปร่าง และสีที่แตกต่างกันซึ่งความขัดแย้งจะตรงข้ามกับความกลมกลืน และมีคุณค่าในงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะสามารถนำมาใช้แก้ไขสิ่งที่กลมกลืนกันมากๆ จนเกิดความน่าเบื่อหน่ายให้กลับกลายเป็นน่าสนใจมากขึ้นขึ้นได้ เช่น กล่องครีมพื้นหลังสีเทาอ่อน แต่โลโก้หรือชื่อแบรนด์เป็นสีดำ ทำให้มีความโดดเด่นขึ้น
5.สัดส่วน (Proportion)
สัดส่วนในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของข้อความ ขนาดของภาพ หรือการจัดวางของแต่ละองค์ประกอบส่งผลต่อการรับรู้ และความเข้าใจของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น การเลือกใช้สัดส่วนข้อความที่ใหญ่เกินไปทำให้กล่องดูรก และยากต่อการอ่าน ในขณะที่การใช้สัดส่วนที่เล็กเกินไปอาจจะทำให้ข้อความนั้นไม่ได้รับความสนใจ การมีความเข้าใจ และการประยุกต์ใช้หลักสัดส่วนในการออกแบบจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ของคุณโดดเด่น และเป็นที่รับรู้ในท้องตลาดมากขึ้น
6.ความเรียบง่าย (Simplicity)
เป็นหลักการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการออกแบบ ซึ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์มีลักษณะที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการใช้งาน หลักการจัดองค์ประกอบประเภทนี้มักจะนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม มีความลงตัว และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ในเรื่องของการออกแบบบรรจุภัณฑ์นักออกแบบควรออกแบบให้มีความเรียบง่ายลดความซับซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลที่จำเป็น จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค
ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการตลาดมากขึ้น เช่น การออกแบบโลโก้ของ Apple ที่มีลักษณะเป็นภาพแอปเปิ้ลที่ถูกกัดที่มุม หากดูอย่างละเอียดจะพบว่ามันไม่ใช่แค่รูปแอปเปิ้ลแบบธรรมดา แต่มีการวางแผนและคำนึงถึงรายละเอียดในการออกแบบ
24 ส.ค. 2567
24 ส.ค. 2567
24 ส.ค. 2567
10 มิ.ย. 2564