ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ที่คุณควรรู้

Last updated: 16 ต.ค. 2567  |  51 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์ที่คุณควรรู้

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบาร์โค้ดบนกล่องบรรจุภัณฑ์ที่คุณควรรู้

บาร์โค้ด (Barcode) หรือ “รหัสแท่ง” คือ ระบบรหัสที่แทนข้อมูลโดยใช้ลายเส้นขนานหรือรูปแบบกราฟิกอื่น ๆ ซึ่งสามารถถูกอ่านได้โดยเครื่องสแกนเนอร์ (Scanner) โดยทั่วไปเราจะพบบาร์โค้ดติดอยู่บนสินค้ากล่องบรรจุภัณฑ์ กล่องเซรั่ม หรือแพ็คเกจของสินค้า เพื่อช่วยในการระบุและติดตามสินค้า รวมถึงการจัดการฐานข้อมูลต่างๆ ในองค์กรหรือสถานประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเภทของบาร์โค้ด

1. Internal Code 

เป็นบาร์โค้ดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินงานภายในองค์กรนั้นๆ ซึ่งอาจต่างจากบาร์โค้ดที่ใช้สำหรับการขายสินค้าในตลาดอย่าง UPC หรือ EAN ที่พบเห็นได้ในร้านค้าทั่วไป เช่น บาร์โค้ดส่วนตัว (Private Barcode) ใช้สำหรับการจัดการคลังสินค้า การติดตามเอกสาร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการดำเนินงานภายในองค์กร

2. Standard Code 

บาร์โค้ดที่ถูกออกแบบให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลบนกล่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทั่วโลก โดยไม่เกิดปัญหาในการอ่าน หรือการแสดงผลข้อมูล และมีการนำบาร์โค้ดประเภทนี้ไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายประเภทของธุรกิจ และในการจำหน่ายสินค้าที่มีการกระจายสินค้าไปทั่วโลก ดังนี้

  • ระบบ UPC (Universal Product Code) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นระบบบาร์โค้ดที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการระบุสินค้าในร้านค้าปลีก เพื่อจุดประสงค์ของการบันทึกข้อมูลการขาย และการจัดการสต็อกสินค้า มีการใช้งานอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ และแคนาดาจะมีรหัส 10 ตัว
  • ระบบ EAN (European Article Numbering) เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2519 นิยมใช้ในยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย และประเทศไทย ซึ่งมอบหมายให้สถาบันสัญลักษณ์รหัสแท่งไทย ภายใต้พระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 เป็นองค์กรตัวแทนดูแล มีแท่งรหัส 13 ตัว ซึ่งประกอบด้วย รหัส 3 ตัวแรก จะแทนประเทศ (Country Code) ยกตัวอย่าง เช่น 489 แทนประเทศฮ่องกง 880 แทนประเทศเกาหลีใต้ 885 แทนประเทศไทย 888 แทนประเทศสิงคโปร์ และ 955 แทน ประเทศมาเลเซีย รหัส 4 ตัวต่อมาเป็นรหัสบอกถึงสมาชิกในประเทศนั้นคือ รหัสโรงงานที่ผลิต (Manufactuer Code) รหัสอีก 5 ตัวต่อมาเป็นรหัสที่กำกับสินค้า จะมีทั้งรายละเอียดสินค้าและราคาสินค้า (Product  Code) อยู่ในรหัสนั้นด้วย และส่วนตัวสุดท้าย จะเป็นรหัสการตรวจสอบการอ่านที่ถูกต้อง (Check Digit)


การอ่านรหัสบาร์โค้ด
การอ่านรหัสบาร์โค้ดสามารถอ่านได้โดยนำแถบบาร์โค้ด หรือ รหัสแท่งนี้ไปผ่านเครื่องสแกนเนอร์(Scanner) ซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ในการอ่านแถบบาร์โค้ด เครื่องมือนี้จะเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีรายละเอียดของสินค้าประเภทต่างๆ เมื่อเครื่องสแกนเนอร์นี้อ่าน และรับรู้รหัสจากความแตกต่างของแถบดำสลับขาวที่มีความหนาบางต่างกัน ก็จะส่งผ่านไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลที่อ่านได้จากบาร์โค้ด โดยจะมีรายละเอียดของประเภทสินค้า ราคาที่จำหน่ายที่ส่งตรงไปยังจุดขาย และพิมพ์ใบเสร็จออกมาในทันที ช่วยให้สะดวกรวดเร็วในการซื้อสินค้า

ลักษณะที่สำคัญของบาร์โค้ด
บาร์โค้ดจะต้องมีเส้นที่คมชัด ไม่มีตำหนิ ความหนาของเส้น และช่องว่างระหว่างเส้นต้องสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนด ถ้าเส้นมีความหนาหรือบางเกินไป อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการอ่านของเครื่องสแกน(Scanner)ได้ โดยทั่วไปแล้วสามารถย่อขนาดของบาร์โค้ดลงได้มากสุด 20 % ถ้าย่อขนาดลงไปกว่านั้นอาจทำให้บาร์คาร์โค้ดไม่คมชัด

ซึ่งบาร์โค้ดจะประกอบด้วย Quiet Zone เป็นบริเวณที่ว่างเปล่า ไม่มีการพิมพ์อะไรทั้งสิ้น จะมีอยู่ก่อน และหลังบาร์โค้ด Start/Stop Character เป็นบริเวณแถบแท่ง และช่องว่างเพื่อเป็นจุดบอกการเริ่มต้น หรือจุดจบของข้อมูล Data เป็นบริเวณแถบแท่ง และช่องว่างที่แทนข้อมูลต่างๆที่เราต้องการ และCheck Digit เป็นบริเวณแถบแท่ง และช่องว่างที่มีไว้เก็บข้อมูลที่จะใช้ตรวจสอบข้อมูลในส่วนของ Data เพื่อให้มั่นใจว่า Data ที่อ่านได้นั้นถูกต้อง

การเลือกชนิดของเครื่องพิมพ์ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้บาร์โค้ดนั้นอ่านยากง่ายต่างกัน ทั่วไปคุณภาพของเครื่องพิมพ์ที่ดีที่สุด คือ Laser printer, Thermal printer, Dot Matrix printer และ Ink-Jet ตามลำดับ



สีที่ใช้สำหรับบาร์โค้ด
สีที่ควรใช้สำหรับบาร์โค้ดควรมีความตัดกันอย่างชัดเจนระหว่างสีพื้นหลังกล่องบรรจุภัณฑ์ หรือกล่องเซรั่ม และสีของบาร์โค้ดเพื่อให้เครื่องอ่านบาร์โค้ดสามารถอ่านได้โดยไม่เกิดปัญหา การจัดเรียงสีที่ได้รับการยอมรับ และง่ายต่อการอ่านมากที่สุดคือบาร์โค้ดสีดำบนพื้นหลังสีขาว

ในส่วนของสีที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับบาร์โค้ด เพราะความสามารถในการสะท้อนแสงแตกต่างกันไม่มากพอที่เครื่องจะอ่านได้อย่างถูกต้อง คือ สีเหลือง บนสีขาว สีแดง บนสีน้ำตาลอ่อน, สีน้ำตาลอ่อน บนสีขาว สีน้ำเงิน บนสีเขียว, สีดำ บนสีเขียว สีส้ม บนสีขาว, สีดำ บนสีน้ำเงิน สีส้มและสีแดง บนสีทอง, สีดำ บนสีน้ำตาลเข้ม สีทอง บนสีขาว, สีดำ บนสีทอง สีแดง บนสีเขียว และสีแดง บนสีน้ำเงิน สีแดง บนสีขาว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้