Last updated: 16 ต.ค. 2567 | 11 จำนวนผู้เข้าชม |
8 สไตล์การออกแบบโลโก้ที่ทุกเจ้าของแบรนด์ควรรู้
1. โลโก้แบบตัวอักษร (Wordmarks Logo)
หรือบางครั้งเรียกว่า Logotypes คือ ประเภทของโลโก้ที่ใช้ตัวอักษรหรือชื่อแบรนด์เป็นส่วนประกอบหลักในการออกแบบ จะไม่มีการใช้ภาพประกอบหรือสัญลักษณ์พิเศษเป็นส่วนประกอบหลักในการออกแบบโลโก้ประเภทนี้ ดังนั้นสีและตัวอักษรแบบฟอนต์นอกจากจะสื่อความหมาย และความรู้สึกที่ต้องการนำเสนอต่อแบรนด์สินค้า การวางตำแหน่ง ขนาดตัวอักษรเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ได้ภาพที่มีความสมดุล ตัวอย่างเช่น
โลโก้ของ Google สร้างจากตัวอักษรที่ใช้สี และฟอนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ง่ายต่อการจดจำ โลโก้ของ Coca-Cola ใช้ฟอนต์ที่สร้างความน่าจดจำอย่างกว้างขวางทั่วโลก อีกทั้งโลโก้แบบอักษรยังมีข้อดีในหลายๆ ด้าน ซึ่งทำให้เป็นตัวเลือกที่นิยมในการสร้างโลโก้แบรนด์ เช่น ชื่อแบรนด์จะต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจน ไม่มีภาพประกอบหรือสัญลักษณ์ที่ยุ่งยาก และสามารถปรับขนาดหรือจัดวางได้ง่ายตามแต่ละการใช้งาน
2. โลโก้แบบตัวอักษรย่อ (Lettermarks Logo)
ประเภทของโลโก้ที่มีการใช้ตัวอักษรย่อหรือตัวย่อของชื่อบริษัทหรือแบรนด์เป็นส่วนประกอบหลักในการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ ซึ่งในการสร้างโลโก้ประเภทนี้ จะมีการออกแบบโดยเน้นให้ตัวอักษรย่อมีความโดดเด่น และสามารถจดจำได้อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่ชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษที่อาจจะยากต่อการออกเสียงหรือยากต่อการจดจำสำหรับลูกค้าบางกลุ่ม การใช้โลโก้แบบตัวอักษรย่อก็จะช่วยในการแก้ปัญหานี้ได้
โดยเฉพาะสำหรับบริษัทที่มีชื่อที่ยาว และซับซ้อน ตัวอย่างเช่น IBM (International Business Machines Corporation) HP (Hewlett-Packard) และ LV (Louis Vuitton) ซึ่งโล้โก้แบบตัวย่อจะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างยอดยอดได้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
3. โลโก้แบบรูปภาพ (Pictorial Logo)
หรือบางครั้งเรียกว่า Logotypes โลโก้แบบภาพประกอบ (Illustrative Logo) คือ การใช้ภาพหรือรูปภาพที่เป็นการแทนคน สัตว์ หรือสิ่งของในแบบที่สามารถรับรู้ได้ชัดเจนในการสื่อความหมายหรือเอกลักษณ์ของแบรนด์ โลโก้ประเภทนี้มีความตรงไปตรงมา และง่ายต่อการจดจำสำหรับผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Apple เป็นภาพแอปเปิลที่ถูกกัดออกมุมหนึ่ง โลโก้ของทวิตเตอร์ มีภาพนกน้อยสีน้ำเงินที่กำลังบิน และโลโก้ของ Mercedes-Benz เป็นภาพดาวสามเหลี่ยมสะท้อนถึงความหลากหลายในการขับขี่ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
4. โลโก้แบบตราสัญลักษณ์ (Emblem Logo)
เป็นประเภทของโลโก้ที่ผสมผสานระหว่างตัวอักษร (Wordmarks) และรูปภาพ (Pictorial) เข้าด้วยกัน โดยจะรวมตัวอักษรหรือชื่อแบรนด์เข้าไปในรูปภาพที่มีลักษณะเป็นกรอบหรือตราสัญลักษณ์ โดยลักษณะของโลโก้ตราสัญลักษณ์ คือ จะมีความคลาสสิกทำให้ได้รับความนิยมในหลายอุตสาหกรรมที่ต้องการความเป็นทางการ เช่น การศึกษา รัฐบาล หรือองค์กรเก่าแก่ แต่ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่สร้างโลโก้ตราสัญลักษณ์ที่ทันสมัย และไม่เป็นทางการ ตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Starbucks ที่มีรูปภาพนางเงือกในวงกลมพร้อมชื่อแบรนด์ Starbucks Coffee และโลโก้ของ Liverpool ที่มีรูปภาพหงส์สีแดงยืนอยู่ตรงกลาง และมีตัวอักษร Liverpool football club อยู่ข้างบน
5. โลโก้แบบผสม (Combination Logo)
เป็นประเภทของโลโก้ที่ผสมผสานระหว่างตัวอักษร (Wordmarks) และรูปภาพ (Pictorial) เข้าด้วยกันเช่นเดียวกับโลโก้แบบตราสัญลักษณ์ (Emblem Logo) แต่ตัวอักษรและรูปภาพสามารถแยกออกจากกันได้ โดยไม่ทำให้โลโก้เกิดการเสียหาย การเลือกใช้โลโก้แบบผสมเป็นวิธีที่ดีในการสื่อความหมายทั้งจากตัวอักษร และรูปภาพในเวลาเดียวกัน ทำให้แบรนด์มีความยืดหยุ่นและมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น
ในบางกรณีสามารถใช้รูปภาพเป็นตัวแทนของแบรนด์โดยไม่ต้องใช้ตัวอักษร ช่วยให้เป้าหมายทางการตลาดเป็นที่รู้จัก และจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Nike ที่มีรูปภาพสวูช (Swoosh) และชื่อแบรนด์ "Nike" อยู่ด้านบน และโลโก้ของ McDonald's ที่มีตัวอักษร "M" และชื่อแบรนด์ "McDonald's" อยู่ด้านล่าง
6. โลโก้แบบมาสคอต (Mascot Logo)
เป็นประเภทของโลโก้ที่ใช้ตัวละครหรือรูปภาพเป็นตัวแทนของแบรนด์ เพื่อแสดงถึงเรื่องราวความเป็นมา และค่านิมยมของแบรนด์ ซึ่งมักจะมีความน่ารักหรือมีชีวิตชีวา ทำให้สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าเป็นอย่างมาก โลโก้ประเภทนี้เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ โดยการเชื่อมโยงอารมณ์กับลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายเด็ก และครอบครัว ตัวอย่างเช่น ตุ๊กตา Michelin ของบริษัทยาง Michelin Ronald และตัวละครผู้พันแซนเดอส์ ของไก่ทอด KFC
7. โลโก้แบบนามธรรม (Abstract Logo)
เป็นประเภทของโลโก้ที่ไม่ได้ออกแบบโดยใช้รูปภาพเพื่อสื่อความหมายในโลกความเป็นจริงโดยตรง แต่เป็นการนำเอารูปร่างหรือรูปทรงเลขาคณิตมาใช้ในการออกแบบอย่างอิสระ ที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อสื่อความหมายหรือข้อความเฉพาะเจาะจงที่แบรนด์ต้องการสื่อถึง โดยปกติแล้วโลโก้แบบนามธรรมมักจะเป็นผลลัพธ์ของการดัดแปลงรูปภาพหรือแนวคิดให้กลายเป็นรูปทรงหรือลายเส้นที่ไม่เหมือนใครและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น โลโก้ของ Adidas มีลักษณะเป็นเส้นสามเส้นขนานกันหรือเป็นทรงดอกไม้ และโลโก้ของ Pepsi ที่ใช้วงกลมสองสีเป็นรูปแบบนามธรรมเพื่อสื่อความหมายของความสดชื่น
8. โลโก้แบบไดนามิก (Dynamic Logo)
เป็นประเภทของโลโก้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงได้ตามสถานการณ์ หรือเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ โดยยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อยู่เสมอ โลโก้ประเภทนี้มีความยืดหยุ่น และมีความเกี่ยวข้องกับตัวประชาคมหรือกลุ่มเป้าหมายในแต่ละครั้งที่ใช้งาน ตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Google ที่เรียกว่า "Google Doodle" เป็นตัวอย่างของโลโก้แบบไดนามิกที่ดี เนื่องจากสามารถเปลี่ยนแปลงตามเทศกาล หรือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ
โดยยังคงรักษารูปแบบของตัวอักษร "Google" อยู่เสมอ และโลโก้ของ MTV ได้รับการปรับเปลี่ยนหลายครั้งตามแนวคิดหรือรายการที่ถูกนำเสนอ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ ความต้องการยังคงต้องสอดคล้องกับตัวตน และความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ดังนั้น การทำโลโก้แบบไดนามิกควรมีการวางแผน และการคิดค้นในทิศทางที่เหมาะสม
10 มิ.ย. 2564
24 ส.ค. 2567
24 ส.ค. 2567
24 ส.ค. 2567