ความสำคัญและบทบาทของมาตรฐาน ISO ในอุตสาหกรรมกล่องบรรจุภัณฑ์

Last updated: 16 ต.ค. 2567  |  53 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความสำคัญและบทบาทของมาตรฐาน ISO ในอุตสาหกรรมกล่องบรรจุภัณฑ์

ความสำคัญและบทบาทของมาตรฐาน ISO ในอุตสาหกรรมกล่องบรรจุภัณฑ์

ISO คือ องค์การมาตรฐานสากล หรือองค์การหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานสากลในหลายๆ ด้าน เช่น มาตรฐานสำหรับการผลิต ความปลอดภัย คุณภาพ และอื่นๆโดยISO  ถูกกำหนดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1946 มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 162 ประเทศ ทุกๆ วันที่ 14 ตุลาคม คือ วันมาตรฐานโลก (World Standard Day)

ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization ตอนแรกมีตัวย่อว่า IOS แต่ต่อมาใช้คำว่า ISO เพื่อให้สอดคล้องกับภาษากรีกที่แปลว่า เท่ากันหรือเท่ากับ


มาตรฐานสากล ISO

ISO 12647 (มาตรฐานการพิมพ์)
ถูกกำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการด้านเทคนิค Technical Committee 130 หรือ TC130 เป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านเทคโนโลยีกราฟิก ซึ่ง TC130 มีตัวแทนมาจากหลายประเทศ มีการประชุมทุกๆปี และISO 12647 เป็นมาตรฐานในการผลิตสิ่งพิมพ์ เช่น สีของกระดาษ สีของหมึก การเตรียมไฟล์มาตรฐาน และการพิมพ์งานกล่องบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน

ISO 14000 (มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม)
เป็นหลักในการผลิตสินค้า และแสวงหากระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดความสิ้นเปลืองของการใช้พลังงาน ทรัพยากร และการนำกลับมาหมุนเวียนใช้เท่าที่ทำได้ มาตรฐานนี้ไม่ได้มีการบังคับใช้ แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการนำมาใช้ปฏิบัติเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า

ISO 18000 (มาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย)
เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัย และอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ โดยประเมินความเสี่ยงในการทำงาน และหาวิธีป้องกันอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นในโรงพิมพ์กล่อง มาตรฐานนี้ไม่มีการบังคับใช้ แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการนำมาใช้ปฏิบัติเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น กีดกันสินค้าที่มาจากโรงงานที่ไม่ได้ก่อสร้างตามแบบมาตรฐาน ใช้แรงงานเด็ก ไม่มีระบบประกันสุขภาพ

ISO 9000 (มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ)
จัดระบบการบริหารคุณภาพ มีการทบทวน และปรับปรุงคุณภาพบนพื้นฐานความพอใจของลูกค้า ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ประกอบการต่างๆ เช่น โรงพิมพ์กล่อง โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจร้านค้า และหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ นำมาใช้สร้างความเสมอภาคทางการค้า และสร้างความยอมรับร่วมกันในการซื้อขาย

ISO 9000 เป็นการรับรองระบบบริหาร การผลิต หรือการให้บริการ ว่า “มาตรฐานอย่างเดิมทุกครั้ง” ไม่ได้หมายความว่า สินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย ISO 9000 เป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพสูงกว่าปกติ การที่บริษัทได้รับรอง ISO 9000 วัตถุดิบหรือองค์ประกอบที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ก็ควรจะได้ ISO 9000 หรือหากไม่ได้ ก็ต้องสามารถอธิบายขั้นตอนการผลิตหรือควบคุมการผลิต เพื่อให้ลูกค้าที่ได้ ISO 9000 แล้ว เชื่อมั่นว่าของที่ตนเองทำอยู่มีระบบจัดการคุณภาพที่ดี
  • ISO 9001 : เป็นมาตรฐานระบบคุณภาพซึ่งกำกับดูแลทั้งการออกแบบ และพัฒนาการผลิต การติดตั้ง และการบริการ
  • ISO 9002 : เป็นมาตรฐานระบบคุณภาพซึ่งกำกับดูแลเฉพาะการผลิต การติดตั้ง และการบริการ
  • ISO 9003 : เป็นมาตรฐานระบบคุณภาพซึ่งกำกับดูแลเรื่องการตรวจและการทดสอบขั้นสุดท้าย
  • ISO 9004 : เป็นแนวทางในการบริหารงานคุณภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป็นข้อแนะนำในการจัดการในระบบคุณภาพซึ่งจะมีการกำหนดย่อยในแต่ละประเภทธุรกิจ เช่น

                   ISO 9004 - 1 : ข้อแนะนำการใช้มาตรฐาน
                   ISO 9004 - 2 : ข้อแนะนำการใช้สำหรับธุรกิจบริการ
                   ISO 9004 - 3 : ข้อแนะนำกระบวนการผลิต

เอกสารในระบบ ISO

คู่มือคุณภาพ (Quality Manual)
เป็นเอกสารหลักของระบบการจัดการคุณภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการคุณภาพ (Quality Management System) ขององค์กร คู่มือคุณภาพมักประกอบไปด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายคุณภาพขององค์กร คำอธิบายระบบคุณภาพในหัวข้อต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 9000 และอ้างอิงขั้นตอนการทำงาน

คู่มือขั้นตอนการดำเนินงาน (Quality Procedure)
แปลงนโยบายในคู่มือคุณภาพมาปฏิบัติและจัดทำเอกสารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ กลุ่มของเอกสารที่อธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานของระบบคุณภาพตั้งแต่บุคคลจะทำงานอย่างไร แต่ละหน่วยงานแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

วิธีการปฏิบัติงาน (Work Instruction)
แสดงรายละเอียดของกิจกรรม เน้นการอธิบายวิธีการปฏิบัติว่าทำอย่างไร เช่น การตรวจสอบกระดาษที่ใช้ในการสั่งผลิตกล่อง การบำรุงรักษาอุปกรณ์ การสอบเทียบเครื่องมือวัด การใช้เครื่องมือวัดแบบต่างๆ การผลิต (ในขั้นตอนต่างๆ) และวิธีการตรวจสอบคุณภาพ

เอกสารสนับสนุน (Supporting Document)
ส่วนใหญ่จะต้องการเอกสารสนับสนุนหลายประเภทเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรนั้นปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และสามารถ บ่งบอกว่าตนได้ปฏิบัติตามมาตรฐานนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ เช่น ระเบียบปฏิบัติงาน แบบของชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ มาตรฐานทางวิศวกรรม ตัวอย่างงานจริง คู่มือการตรวจหรือวิธีการทดสอบ แผนการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานสากล คู่มือผู้ใช้ และวิธีการปฏิบัติงานต่างๆ

 
6 ขั้นตอนการขอรับการรับรองจาก ISO

1. เลือกมาตรฐานที่เหมาะสมกับองค์กร :

ขั้นตอนแรก ต้องทราบว่ามาตรฐานใดจะเหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กรของเรา และช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

2. การหาผู้ตรวจประเมินรับรองระบบมาตรฐานที่เหมาะสม (Certification Body: CB) :

เป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรจะดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะการมีประสิทธิภาพในการตรวจประเมินจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และการได้รับการรับรอง เช่น United Kingdom Accreditation Service (UKAS) เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานระดับสากลอีกทั้งยังได้รับการยอมรับ จากรัฐบาลสหราชอาณาจักร

3. การหาผู้ช่วยในการจัดทำระบบ :

เป็นขั้นตอนในการพัฒนา และบำรุงรักษาระบบการบริหารคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เช่น กำหนดวัตถุประสงค์ และขอบเขตของการประยุกต์ใช้ระบบ ISO ภายในองค์กร โดยค้นหาผู้ที่มีความรู้ และประสบการณ์ เพื่อมาพัฒนา และบำรุงรักษาระบบ ISO

4. การเข้ารับการตรวจประเมินขั้นตอนที่ 1 :

เป็นขั้นตอนการตรวจประเมินเบื้องต้น ในระบบISO เพื่อตรวจสอบเอกสารการจัดการคุณภาพ หรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน ISO ตรวจสอบความเข้าใจของบุคลากรภายในองค์กร เพื่อประเมินการวางแผน และขั้นตอนการดำเนินงาน

5. การพัฒนาระบบการจัดการในองค์กร :

เป็นขั้นตอนการสร้างกรอบการทำงานในองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในการตรวจเมินขั้นตอนที่1 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตรวจประเมินในขั้นตอนที่2

6. การตรวจประเมินขั้นตอนที่ 2 :

ขั้นตอนนี้เป็นการตรวจสอบการปฏิบัติงานจริงตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ภายในองค์กร หากองค์กรผ่านการตรวจประเมินขั้นตอนที่2 และไม่มีข้อบกพร่อง แต่หากมีข้อบกพร่อง องค์กรจะได้รับการรับรอง ISO แต่ถ้าองค์กรมีข้อบกพร่อง ต้องแก้ไข และแจ้งผลการแก้ไขกลับมาให้ผู้ตรวจทันที

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้